วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิธีการทางประวัติศาสตร์

มาตรฐานการเรียนรู้ ส 4.1.2

เข้าใจวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบและสามารถใช้ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์
สาระการเรียนรู้
วิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์

วิธีการทางประวัติศาสตร์

    วิธีการทางประวัติศาสตร์ หมายถึง กระบวนการหรือขั้นตอนศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์ให้ตรงกับสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด ซึ่งมีขั้นตอน 4 ขั้นตอนดังนี้
1. การกำหนดหัวเรื่องและการรวบรวมข้อมูล
    นับเป็นขั้นตอนแรกที่ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการศึกษา การกำหนดหัวเรื่องควรมีการกระชับ ช่วงเวลาไม่กว้างเกินไป เพื่อสะดวกในการศึกษา เพื่อตอบคำถามที่ผู้ศึกษามีความสนในอีกทั้งความหลากหลายของแหล่งข้อมูลและต้องคอยติดตามหลักฐานที่อาจมีการค้นพบใหม่ หรือการตีความใหม่อยู่เสมอของหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ที่มีทั้งลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับแหล่งข้อมูลที่สำคัญคือ ห้องสมุด พิพิธภัณฑสถาน แหล่งโบราณคดี ฐานข้อมูล หรือเว็บไซด์ (Website) ในเครื่องคอมพิวเตอร์
    การรวบรวมข้อมูลที่ดีจะต้องจดบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งข้อมูลและแหล่งข้อมูลให้สมบูรณ์และถูกต้องเพื่อการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ
2. การประเมินคุณค่าของหลักฐาน แบ่งออกได้ดังนี้
    2.1 การวิพากษ์หรือประเมินคุณค่าจากภายนอก เป็นการประเมินจากหลักฐานนั้นว่าเป็นของจริงหรือของปลอม โดยอาศัยวิธีการพิจารณาเปรียบเทียบกับหลักฐานอื่น การตรวจสอบหาข้อบกพร่องของข้อความในหลักฐานซึ่งอาจคัดลอกหรือแปลความหมายที่ผิดพลาด โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆ หรืออาจพิจารณาจากใครเป็นผู้เขียน เขียนขึ้นเมื่อใด เขียนเพื่อวัตถุประสงค์ใด
    2.2 การวิพากษ์หรือประเมินคุณค่าจากภายใน เป็นการประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐาน ซึ่งผู้ศึกษาตระหนักว่าบางอย่างอาจไม่ได้บอกความจริงไว้ทั้งหมด จึงต้องวิเคราะห์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงเจตนาและความมุ่งหมายที่แท้จริงของหลักฐาน โดยพิจารณาจากสิ่งต่อไปนี้
        - การใช้สำนวนภาษาของผู้เขียนเรื่องนั้น ๆ ว่าผู้เขียนยกย่องตนเอง หรือใช้หลักฐานประเภทรายงานของทางการ ซึ่งจะอ้างความสำเร็จมากกว่าความบกพร่อง ซึ่งผู้ศึกษาต้องตระหนักว่าหลักฐานนั้นไม่ได้บอกความจริงทั้งหมด
        - ถ้าเขียนขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน หรือใกล้เคียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความน่าเชื่อถือจะมีมากกว่าเขียนขึ้นทีหลังเหตุการณ์เป็นเวลานาน
        - เกี่ยวกับตัวผู้เขียนว่าเป็นใคร เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็น่าจะเชื่อถือมากกว่าผู้ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
        - สอดคล้องกับหลักฐานอื่นหรือไม่ ถ้าสอดคล้องก็มีความน่าเชื่อถือ ถ้าขัดแย้งไม่ตรงกันความน่าเชื่อถือก็จะลดลง
    การวิพากษ์ หรือการประเมินของหลักฐานด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ทั้งภายนอกและภายในสามารถกระทำพร้อมกันได้ ซึ่งจะทำให้ไม่เสียเวลาการศึกษา
3. การตีความหลักฐาน
    การตีความหลักฐาน ประกอบด้วย การแปลความหมาย การวิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น โดยตีความผู้เขียนให้ข้อมูลหรือข้อสนเทศอะไรแก่ผู้อ่าน มีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นอย่างไร มีข้อมูลแอบแฝงที่ต้องการจะเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง การตีความนี้ผู้ตีความจะต้องกระทำอย่างเป็นกลาง ไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัว ไม่ใช้มาตรฐานปัจจุบันไปประเมินเหตุการณ์ เพราะอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้การตีความขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ ความละเอียดรอบคอบ ช่างสังเกต ย่อมสามารถวิเคราะห์หลักฐานได้ดีกว่า โดยมีข้อพิจารณาจากการใช้ถ้อยคำ การใช้สำนวนโวหาร การตีความหลักฐาน อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. การตีความในแนวดิ่ง เป็นการตีความประเด็นปัญหาแต่ละเรื่อง โดยไม่ยึดตามลำดับเวลาก่อนหลัง
2. การตีความในแนวราบ เป็นการตีความโดยยึดลำดับความต่อเนื่องของเวลา ไม่ได้สนใจที่จะหาสาเหตุของเหตุการณ์นั้น ๆ
4. การสังเคราะห์หลักฐาน
    การสังเคราะห์หลักฐาน เป็นขั้นตอนที่จะต้องเรียบเรียงเรื่อง ผสมผสานกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์และตีความตามหลักฐาน โดยเป็นการตอบหรืออธิบายความอยากรู้ ข้อสงสัย ตลอดจนความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้านั้น การสังเคราะห์ หรือการรวมเข้าด้วยกันเป็นการจำลองภาพบุคคลหรือเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์และความต่อเนื่อง โยอธิบายถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นและผลกระทบ หรือเป็นเหตุการณ์เชิงวิเคราะห์ก็ได้ ข้อควรคำนึงในการพัฒนากระบวนการสังเคราะห์หลักฐาน ได้แก่ การนำความงามทางวรรณศิลป์มาประกอบเขียนอธิบายความ มีความต่อเนื่องสมดุล และเป็นเอกภาพ เที่ยงธรรมเป็นกลางในการอธิบายเนื้อหาของข้อเท็จจริงที่ได้
ความสำคัญของหลักฐาน
    จากหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งสองประเภทสามารถใช้ข้อมูลของหลักฐานชั้นต้นและชั้นรอง ในการศึกษาค้นคว้าจะต้องมีการตรวจสอบและประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานนั้น ๆ เสียก่อน เนื่องจากอาจคลาดเคลื่อนและบิดเบือนไปจากความจริง ฉะนั้น ความสำคัญของหลักฐานประวัติศาสตร์ไทยจากข้อมูลต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นโลกทัศน์ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อของคนไทยสมัยก่อนด้วย จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะช่วยกันเก็บรักษาหลักฐานไว้ให้ดี และสืบค้นว่าเก็บไว้ที่ใดอีกหรือไม่ เพื่อจะได้ค้นคว้าเผยแพร่ อันจะทำให้ประวัติศาสตร์มีความชัดเจน ถูกต้องมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป
องค์ความรู้ใหม่ของประวัติศาสตร์ไทยและสากล
    การสร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือการยืนยันความรู้ ความรู้เดิมว่ามีความถูกต้องแล้วโดยความรู้ใหม่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ ได้แก่
1. เกิดจากการตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลเดิมที่เคยใช้กันมาแล้ว โดยที่ผู้ศึกษาเห็นว่าน่าจะตีความในลักษณะที่แตกต่างจากข้อมูลเดิม
2. เป็นความรู้ใหม่ที่ไม่เคยทราบมาก่อน โดยการค้นคว้าข้อมูลหรือหลักฐานใหม่ทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ ประกอบด้วยข้อมูลของต่างชาติที่กล่าวถึงเรื่องราวของอีกชาติหนึ่งที่มีการติดต่อกัน เป็นต้น
การศึกษาประวัติศาสตร์ตามแบบสากล
    การศึกษาประวัติศาสตร์ตามแบบสากลมักใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ รูปแบบการศึกษามักเป็นลักษณะของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ลักษณะของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์มีการกำหนดเป้าหมายหรือสมมุติฐานเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องศึกษาแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการแสวงหาข้อมูลที่หลากหลาย และแตกต่างกัน เมื่อรวบรวมข้อมูลได้มากที่สุดแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการวิเคราะห์และประเมินคุณค่าหลักฐาน เพื่อคัดเลือกหาความน่าเชื่อถือ และนำไปสู่การตีความหลักฐาน แล้วสังเคราะห์ประมวลมาในลักษณะข้อเท็จจริง หรือข้อคิดจากเรื่องที่ได้ศึกษา ซึ่งต้องคำนึงถึงการสื่อสารแก่ผู้อ่านทั่วไป
    เนื่องจากงานวิจัยทางประวัติศาสตร์มีคุณค่า ผู้ศึกษาจะได้ประโยชน์จากงานอย่างมาก เพราะจะทำให้เห็นถึงความต่อเนื่องของความคิด ความเปลี่ยนแปลง การต่อสู้ ในสิ่งที่ทำในปัจจุบันกับอดีตที่จะเป็นประโยชน์ให้ก้าวต่อไปสู่อนาคต
    องค์ความรู้ใหม่ทางการศึกษาประวัติศาสตร์กับการพัฒนาใช้ประวัติศาสตร์ด้านอื่น ๆ โดยให้ตอบสนองความต้องการของสังคม และปลูกฝังสิ่งที่สังคมไทยต้องการ อันได้แก่ ความมีน้ำใจ การเสียสละ การรักในสันติ และความภาคภูมิใจในตนเอง วิธีการสอนประวัติศาสตร์จึงควรนำความขัดแย้งต่าง ๆ มาหาข้อสรุป วิเคราะห์ วิจารณ์ อย่างมีเหตุผล
    สำหรับตัวอย่างการสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย จะขอยกตัวอย่างในสมัยอยุธยา ประเด็นที่ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ที่สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ กรณีพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มักจะเริ่มด้วยทรงเป็นนักรบ แต่ทรงเป็นนักรบอย่างเดียวหรืออย่างไร ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านอื่นบ้างไหม เมื่อเกิดข้อสงสัยจะทำให้สามารถกำหนดหัวข้อที่จะศึกษาได้และทำการค้นคว้าข้อมูล โดยข้อมูลที่สำคัญ คือ พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงให้ความสำคัญแก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในฐานะนักรบมาก
    ส่วนหนังสือสำคัญอีกเล่มหนึ่ง คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 400 ปี ของการครองราชย์ที่มี รศ. วุฒิชัย มูลศิลป์ เป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้เป็นผลการอภิปรายของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2533 ซึ่งมีข้อมูลหลากหลายทั้งของไทยและต่างประเทศ จีน สเปน ฮอลันดา ที่กล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
    ข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้จะต้องนำมาผ่านการวิเคราะห์เลือกสรรความน่าเชื่อถือ โดยทั่วไปแล้วจะเชื่อถือได้มากเพราะเป็นข้อมูลร่วมสมัย และได้รับรู้เหตุการณ์ในเวลานั้น ส่วนการนำเสนอซึ่งสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้หลายประการ เช่น พระองค์มิได้ทรงเป็นนักรบแต่เพียงอย่างเดียว ยังทรงส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ ทรงกระชับความสัมพันธ์กับจีน โดยทรงแสนอจะช่วยจีนสู้รบกับญี่ปุ่น
    จะเห็นได้ว่าองค์ความรู้ใหม่สามารถศึกษาค้นคว้าจากหลายแหล่ง และมีความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์อีกหลายเรื่อง โดยใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์

                                               แบบทดสอบ
คำสั่ง จงเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียวลงในกระดาษคำตอบ
1. เรื่องราวของมนุษย์ที่ตรงกับสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือวิธีการใด
    ก. วิธีการทางวิทยาศาสตร์สังคม    ข. วิธีการทางสังคมวิทยา
    ค. วิธีการทางสังคมศาสตร์             ง. วิธีการทางประวัติศาสตร์
2. วิธีการทางประวัติศาสตร์มีขั้นตอนอย่างไร
    ก. การรวบรวมข้อมูล การประเมินคุณค่าหลักฐาน การตีความหลักฐาน การสังเคราะห์หลักฐาน
    ข. การประเมินคุณค่าหลักฐาน การรวบรวมข้อมูล การตีความหลักฐาน
    ค. การตีความหลักฐาน การสังเคราะห์หลักฐาน การรวบรวมข้อมูล
    ง. การสังเคราะห์หลักฐาน การประเมินคุณค่าหลักฐาน การรวบรวมข้อมูล
3. กระบวนการสำคัญที่สุดในการผลิตงานเขียนทางประวัติศาสตร์คือข้อใด
    ก. การตั้งชื่อสมมติฐาน                  ข. การวางเค้าโครงเรื่อง
    ค. การรวบรวมและคัดเลือกข้อมูล  ง. การตีความหาความสัมพันธ์ของเหตุการณ์
4. ดำและแดงใช้ข้อมูลเดียวกันในการเขียนรายงานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏว่าผลงานเขียนของดำมีคุณค่ามากกว่าแดง ความแตกต่างนี้สาเหตุสำคัญมาจากข้อใด
    ก. การจัดระบบข้อมูล                    ข. การคัดเลือกข้อมูล
    ค. การตรวจสอบข้อมูล                 ง. การวิเคราะห์ข้อมูล
5. พัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์เริ่มจากลักษณะข้อใด
    ก. พงศาวดาร ตำนาน ประวัติศาสตร์
    ข. พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ ตำนาน
    ค. ตำนาน ประวัติศาสตร์ พงศาวดาร
    ง. ตำนาน พงศาวดาร ประวัติศาสตร์
6. เป้าหมายที่ต้องการศึกษาขั้นตอนแรกที่สำคัญคืออะไร
    ก. การรวบรวมข้อมูล                     ข. การประเมินคุณค่า
    ค. การตีความตามหลักฐาน           ง. การสังเคราะห์หลักฐาน
7. การรวบรวมข้อมูลที่ดีควรกระทำอย่างไร
    ก. การเปรียบเทียบหลักฐานอื่น
    ข. บันทึกรายละเอียดข้อมูลและแหล่งข้อมูลให้สมบูรณ์
    ค. การวิจารณ์แสดงความคิดเห็นโดยให้ข้อมูลสนเทศแก่ผู้อ่าน
    ง. การผสมผสานอย่างเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูล
8. การตีความในแนวดิ่ง หมายความว่าอย่างไร
    ก. การตีความโดยการวิเคราะห์หลักฐานที่กว้าง
    ข. การตีความด้วยความรอบคอบ ช่างสังเกต
    ค. การตีความปัญหาแต่ละเรื่องโดยไม่ยึดตามลำดับเวลาก่อนหลัง
    ง. การตีความโดยยึดลำดับความต่อเนื่องของเวลา
9. การประเมินคุณค่าของหลักฐานจากภายในพิจารณาจากสิ่งใด
    ก. การใช้ความรู้สึกส่วนตัว และมาตรฐานปัจจุบันไปประเมินเหตุการณ์
    ข. ความสอดคล้องกับหลักฐานอื่นหรือไม่ ถ้าสอดคล้องก็มีความน่าเชื่อถือ
    ค. การใช้สำนวนภาษา ช่วงเวลาเดียวกัน ผู้เขียน สอดคล้องกับหลักฐานอื่น
    ง. การตรวจสอบหาข้อบกพร่องของข้อความหลักฐานที่คัดลอกหรือแปลความหมายผิดพลาด
10. การรวมเข้าด้วยกันเพื่ออธิบายความอยากรู้ ข้อสงสัยเป็นขั้นตอนใดของวิธีการทางประวัติศาสตร์
    ก. การรวบรวมข้อมูล
    ข. การสังเคราะห์หลักฐาน
    ค. การตีความในแนวดิ่ง
    ง. การใช้สำนวนภาษาของผู้เขียนเรื่องสั้น

1 ความคิดเห็น: